วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เพลงชาติไทย ที่เห็นและเป็นไป


เมื่อพูดถึง ประเทศไทย มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เรานึกถึง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราคนไทยได้สัมผัสและรับรู้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จนถึงทุกวันนี้ ก็คือ เพลงชาติไทย นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการนอนดูทีวีที่บ้าน เมื่อเวลา 08.00 น. และ 18.00 น. ก็จะมีการบรรเลงเพลงชาติไทยให้ เราได้ยินกันทางหน้าจอทีวี เมื่อโตขึ้นต้องเข้ารับการศึกษา เป็นที่แน่นอนว่าทางโรงเรียนจะมีการเข้าแถวเพื่อเคารพธงชาติ และมีการเป็นเพลงชาติไทย เอกลักษณ์ของความเป็นไทยแล้วสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชาวสยามของประเทศไทยอย่างแท้ที่สุดแล้ว คงต้องบอกว่าเพลงชาติไทยนี้ เป็นสิ่งรวบรวมความเป็นหนึ่งเดียวไว้ในเพลงๆเดียวที่เราได้ยินอยู่ทุกๆวัน




ความเป็นมาของเพลงชาติไทยนั้นคล้ายคลึงกันกับเพลงชาติของอีกหลายประเทศ คือมีเบื้องหลังอยู่ที่การเมืองอย่างที่หลายคนทราบกันดีอยู่ ว่าก่อนจะมีเพลงชาติฉบับที่พระเจนดุริยางค์ประพันธ์ขึ้นนี้ เราใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงชาติ เหมือนกับประเทศอังกฤษใช้ God Save the King/Queen

แนวความคิดเรื่องการแต่ง เพลงประจำชาติไทยนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ราชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.2414 หรือเมื่อ 134 ปีล่วงมาแล้ว โดยแนวความคิดดังกล่าวเป็นอิทธิพลมาจากชาติตะวันตก ซึ่งประเทศในแถบนั้นต่างมีเพลงประจำชาติมาก่อน

ในช่วงสมัยสมบูรณาญา สิทธิราชย์ ได้มีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ต่าง ชาติ ที่ได้เสด็จเยี่ยมประเทศสยาม (ประเทศไทย) ตามธรรมเนียมสากล แม้เพลงดังกล่าวไม่ใช่เพลงชาติของประเทศสยามที่เป็นทางการ แต่ก็ถืออนุโลมว่าเป็นเพลงชาติโดยพฤตินัยตามหลักดังกล่าว

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในช่วงปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ประกาศใช้เพลงชาติมหาชัย ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นเพลงชาติอยู่ 7 วัน (ใช้ชั่วคราว ระหว่างรอพระเจนดุริยางค์ประพันธ์เพลงชาติใหม่) แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน ต่อมาจึงได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นเพลงชาติฉบับที่แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี